ตามที่ได้ปรากฏข่าวสารข้อมูล กรณีที่ทางทหารไทยได้ดำเนินการรื้อถอนสะพานไม้ไผ่ ที่กลุ่มผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) ใช้เดินทางอพยพเข้ามายังฝั่งไทยในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก จนเป็นข่าว และข้อมูลเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ (Social Media) ตามที่เผยแพร่ให้ทราบไปแล้ว นั้น
กองทัพภาคที่ 3 ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ข่าวสารและข้อมูลเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ (Social Media) ดังกล่าว เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในการจัดกำลังพลร่วมกับส่วนราชการพลเรือนที่เกี่ยวข้อง และผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชนในพื้นที่ เข้าดำเนินการรื้อถอนสะพานไม้ไผ่ (แบบชั่วคราว) จำนวน 1 แห่ง ในพื้นที่บ้านวาเล่ย์ใต้ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา (ยังไม่เกิดสถานการณ์การสู้รบระหว่างทหารเมียนมา กับ กองกำลังชนกลุ่มน้อย และยังไม่มีกลุ่มหนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) อพยพเข้ามายังฝั่งไทย) ซึ่งสะพานไม้ดังกล่าว ถูกสร้างขึ้นโดยบุคคลไม่ทราบฝ่าย นำมาใช้ในการกระทำผิดกฎหมาย ขอยืนยันเหตุรื้อสะพานไม้ ไม่เกี่ยวข้องกับการข้ามเข้ามายังฝั่งไทย ของกลุ่มผู้หนีภัยความไม่สงบของประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด และเป็นคนละห้วงเวลากัน ทั้งนี้ เป็นการจัดระเบียบพื้นที่ตามแนวชายแดน เพื่อเป็นการสกัดกั้น ป้องกัน และปราบปรามกลุ่มขบวนการลักลอบกระทำผิดกฎหมาย รวมทั้งเพื่อเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งจังหวัดตาก/ศูนย์สั่งการชายแดนไทย จังหวัดตาก ในการระงับการเข้า – ออกของบุคคล และยานพาหนะ รวมทั้งสินค้าผ่านแดน เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 อย่างเคร่งครัด ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการข้ามเข้ามายังฝั่งไทย ของกลุ่มผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) แต่อย่างใด
ปัจจุบัน (4 พฤษภาคม 2565) ในพื้นที่จังหวัดตาก มีพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว สำหรับกลุ่มหนีภัยความ ไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) อยู่ในเฉพาะพื้นที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ บ้านเซอทะ, บ้านหนองหลวง, บ้านเลตองคุ และบ้านไม้ระยองคี มีจำนวน 1,547 คน โดย กองกำลังนเรศวร รับผิดชอบอำนวยการดูแล ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) ร่วมกับศูนย์สั่งการชายแดนจังหวัดตาก ได้ดำเนินการตามหลักมนุษยธรรม มีรายละเอียดดังนี้
- ศูนย์สั่งการชายแดนจังหวัดตาก, จังหวัดตาก, กองกำลังนเรศวร และ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมดูแล ความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานในการดำรงชีพ โดยมอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) ตามหลักมนุษยธรรม
- จัดแพทย์ พยาบาล จากกระทรวงสาธารณสุข เข้าดูแลและให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้เจ็บป่วยในพื้นที่
- กองกำลังนเรศวร จัดกำลังพล และ ยุทโธปกรณ์ ในการดูแลรักษาความปลอดภัย สถานที่พักพิงของผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในพื้นที่
ทั้งนี้ กองทัพภาคที่ 3 ได้ปฏิบัติตามนโยบายของกองทัพบก และรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ขอยืนยันว่าจะดำรงตน เพื่อรักษาอธิปไตย, ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ตลอดจนรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่พี่น้องประชาชนชาวไทยตลอดไป โดยมุ่งเน้นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ทุกฝ่าย และอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับด้วยความสมัครใจมาโดยต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2564 จนกระทั่งปัจจุบัน
คณะทำงานโฆษก กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3
4 พฤษภาคม 2565
////////