
พาผู้ประกอบการท่องเที่ยวอุ้มผางน้ำตกทีลอซูแล้วก็กิจกรรมล่องแพเขื่อนภูมิพลมาเสนอขายเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการธุรกิจของนักท่องเที่ยว ภาคอีสาน

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคภาคเหนือ โดย นายสมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ พร้อมด้วย ททท. ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย นางธนภร พูลเพิ่ม ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานอุบลราชธานี และ ททท. สำนักงานโฮจิมินห์ โดย นางกัญญา มโนเสงี่ยม รองผู้อำนวยการสำนักงานโฮจิมินห์ ร่วมจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเชื่อมโยงภาคเหนือ – ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “จากล้านนาสู่ล้านช้าง” ระหว่างวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2568 ณ จังหวัดอุบลราชธานี และเมืองปากเซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) โดยได้รับเกียรติจาก นายภพ ภูสมปอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เข้าร่วมงานฯ ณ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการนำเสนอสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวของภูมิภาคภาคเหนือ เพิ่มช่องทางการขายและขยายโอกาสทางการตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวภาคเหนือ ผ่านกิจกรรมการเจรจาธุรกิจ (Table Top Sale) และ Networking Lunch สร้างกระแสให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวกระจายตัวในเชิงพื้นที่จากเมืองหลักสู่เมืองรอง และกระจายไปยังแหล่งท่องเที่ยวรองอื่น ๆ รวมทั้งเป็นการขยายขยายฐานตลาดนักท่องเที่ยวศักยภาพจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจังหวัดอุบลราชธานี ให้เดินทางมาท่องเที่ยวในภาคเหนือมากขึ้น


นอกจากนี้ ททท. ภูมิภาคภาคเหนือ ยังได้ร่วมกับ ททท. ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวตัวอย่างสำหรับกิจกรรม Pre-tour และ Post-tour เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เดินทางสำรวจสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ และ สปป. ลาว ดังนี้ เส้นทาง Pre-tour จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ 1) เส้นทางแห่งศรัทธาสักการะพระเถราจารย์หลวงปู่ชา สุภัทโท 2) เส้นทางชิค ๆ ย่านเมืองเก่า จังหวัดอุบลราชธานี และเส้นทาง Post-tour จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่ 1) เส้นทางน้ำตกตาดฟาน และน้ำตกตาดเยือง เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก สปป.ลาว 2) เส้นทางชิค ๆ ย่านเมืองเก่า จังหวัดอุบลราชธานี 3) เส้นทางชมความอลังการของงานประเพณีบุญเดือน 6 งานประเพณีบุญบั้งไฟจังหวัดยโสธร 4) เส้นทางสวนทุเรียนภูเขาไฟ ศรีสะเกษ
ทั้งนี้ คาดว่าการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันให้เกิดรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมาย 1.17 ล้านล้านบาท เกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยว กระตุ้นให้เกิดความต้องการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือโดยการสร้างการรับรู้ความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ นำเสนอแหล่งท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม สินค้าหัตกรรมพื้นที่ อาหารเด่นดังของภูมิภาค อันจะก่อให้เกิดการจ้างแรงงาน และกระจายรายได้สู่พื้นที่ภาคเหนือเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสามารถกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงข้ามภูมิภาคในช่วง Green Season (มิ.ย.-ต.ค.) และในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวภาคเหนือที่กำลังจะมาถึง (พ.ย.-ก.พ.) ได้