รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์วันนี้(25มิ.ย.)แจ้งว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board)มอบหมายให้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ. ในฐานะประธานคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบและคณะลงพื้นที่ติดตามงานด้านการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ 14 จังหวัดโดยมีการประชุมเฉพาะกิจติดตามสถานการณ์ต้นฤดูล่าสุดและความพร้อมของ18มาตรการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ ปี 2565 ณ ห้องประชุมสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช และผ่านระบบออนไลน์ ZOOM cloud meetingเมื่อ24เม.ย.มีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นางเรืองอุไร บุญช่วยชูพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และหัวหน้าหน่วยราชการ นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ. นายอรุณชัย พุทธเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอุดมเกียรติ เกิดสม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช นายอนุชา ยาอีด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา นายภูวเดช วุฒิวงศ์วัฒ เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช นางเอกอนงค์ บัวมาศ พาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช นายชวิศร์ สวัสดิสาร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช ผู้แทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้แทนเกษตรกรแปลงใหญ่ ผู้แทนสภาเกษตรกร เครือข่ายชาวสวนมังคุดภาคใต้ ผู้แทนผู้ประกอบการล้งผลไม้ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
โดยที่ประชุมรับทราบ (1) รายงานสถานการณ์การผลิต-การขนส่ง และปัญหาอุปสรรคของผลไม้ภาคใต้ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกองปี 2565 โดย ประธานคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคใต้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
จากข้อมูลการรายงาน ผลผลิตทุเรียนภาคใต้ ปี 65 มีปริมาณ 465,959 ตัน ลดลง 19.19 % (จากปี 64 มีปริมาณผลผลิต 576,594 ตัน )มังคุดภาคใต้ ปี 65 มีปริมาณ 59,659 ตัน ลดลง 63.28 % (จากปี 64 ปริมาณ 162,477 ตัน) เงาะภาคใต้ ปี 65 มีปริมาณ 41,858 ตัน ลดลง 36.47 % (จากปี 64 ปริมาณ 65,882 ตัน ) และลองกองภาคใต้ ปี 65 มีปริมาณ 6,550 ตัน ลดลง 81.90 % (จากปี 64 ปริมาณ 36,181 ตัน)
(2) รายงานผลการบูรณาการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกองปี 2565 โดย สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กรมส่งเสริมการเกษตร
ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ภาพรวมของไม้ผลทั้ง 4 ชนิดได้เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา และจะออกต่อเนื่องจนถึงเดือนธันวาคม 2565 โดยผลผลิตจะออกมากสุดช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2565 ซึ่งขณะนี้ ทุเรียน มังคุด เงาะ ส่วนใหญ่อยู่ระยะการเจริญเติบโตอยู่ในช่วงผลเล็ก โดยทุเรียน ออกดอกแล้ว ร้อยละ 64 เกษตรกรเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 มังคุด ออกดอกแล้ว ร้อยละ 30 เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกช่วงปลายเดือนเมษายน 2565 ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนสิงหาคม 2565 เงาะ ออกดอกแล้ว ร้อยละ 54 เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกได้ช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 และลองกอง ออกดอกบ้างเล็กน้อยร้อยละ 13 ส่วนใหญ่อยู่ในระยะช่อดอก คาดว่าจะทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกได้ช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนกันยายน 2565 ทั้งนี้ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ทุกจังหวัดต้องพร้อมใช้18มาตรการของ Fruit Board ที่อนุมัติทั้งโครงการและงบประมาณล่วงหน้ามาตั้งแต่ต้นปีเพื่อสนับสนุนหน้างานแต่ละจังหวัดสามารถบริหารจัดการทำงานเชิงรุกหรือแก้ไขปัญหาให้รวดเร็วที่สุดรวมทั้งการบริหารเป้าหมายและกลยุทธ์ใหม่เช่นนโยบายเพิ่มการบริโภคภายในประเทศลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ ขณะนี้มังคุดเริ่มออกมามีปัญหาการส่งออกจากกรณีล้งต้องรอ2-3วันกว่าจะบรรจุเต็มคอนเทนเนอร์ ล้งจึงลงมาน้อยทำให้ราคาแกว่งตัวซึ่งในช่วงต้นฤดูกาลต้องเน้นตลาดในประเทศเป็นหลักก่อนไม่ใช่รอแต่จะส่งออกต้องปรับกลยุทธ์ตามสถานการณ์ ดังนั้นเพื่อให้การประสานแผนและกลยุทธ์ใน14จังหวัด
โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นฮับผลไม้ใต้ คือ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราชและจังหวัดยะลามีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงให้ตั้ง”ศูนย์บริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ส่วนหน้า”โดยมอบนายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรนำทีมซึ่งเป็นกลไกใหม่มีหน้าที่ประสานการบริหารจัดการผลไม้14จังหวัดภาคใต้ เช่นที่ใช้ในการบริหารผลไม้ภาคตะวันออกจนประสบความสำเร็จมาแล้ว สำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องมังคุด จะเร่งเปิดโครงการเกษตรกร Happy เพื่อเชื่อมโยงตลาดในประเทศ และกระจายมังคุดและผลไม้อื่นๆจากเกษตรกรถึงผู้บริโภคทั่วประเทศให้มากที่สุดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์