กรมประมง…ชี้แจง !การดำเนินการตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข่าวเกษตร 11 มิถุนายน 202211 มิถุนายน 2022 ชวลิต วิกุลชัยกิจLeave a Comment on กรมประมง…ชี้แจง !การดำเนินการตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จากกรณีสมาคมรักษ์ทะเลไทย และสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้ภาครัฐเร่งรัดกระบวนการคุ้มครองสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน และขนาดเล็ก เพื่อแก้วิกฤตทรัพยากรประมง นั้นนายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ชี้แจงว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนในช่วงที่ผ่านมานั้น กรมประมง ได้ดำเนินการในหลายวิธี เช่น การประกาศปิดอ่าว ในช่วงฤดูกาลสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัววัยอ่อน การกำหนดห้ามมิให้อวนล้อมจับที่มีขนาดตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืน การกำหนดขนาดตาอวนก้นถุงของเรืออวนลาก ไม่น้อยกว่า 4 เซนติเมตร การกำหนดขนาดตาอวนครอบหมึก ไม่น้อยกว่า 3.2 เซนติเมตร การกำหนดขนาดตาอวนครอบปลากะตัก ไม่น้อยกว่า 0.6 เซนติเมตร และการกำหนดตาอวนของลอบปู ไม่น้อยกว่า 2.5 นิ้ว เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ภายใต้การมีส่วนร่วมของพี่น้องชาวประมง ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่มีการบังคับใช้ พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 สำหรับการประกาศตามมาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมงนั้น ต้องคำนึงถึงสภาพธรรมชาติและความหลากหลายของสัตว์น้ำ เพราะในประเทศไทยเครื่องมือประมงที่ใช้ไม่สามารถเลือกจับสัตว์น้ำเป็นรายชนิดได้อย่างชัดเจน เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตร้อน มีความหลากหลายของชนิดสัตว์น้ำมาก ส่งผลให้การทำประมงในแต่ละครั้งสามารถจับสัตว์น้ำได้มีความหลากหลายทั้งชนิดและขนาด ซึ่งแตกต่างจากการทำประมงในเขตอบอุ่นที่มีความหลากหลายของสัตว์น้ำน้อยกว่า จึงสามารถเลือกจับสัตว์น้ำเป็นรายชนิดในการทำประมงแต่ละครั้งได้ ขณะที่ข้อกำหนดของมาตรา 57 หากพบสัตว์น้ำขนาดเล็กบนเรือประมงแม้เพียงตัวเดียวหรือชนิดเดียวก็มีความผิด จึงต้องใช้บทบัญญัติตามมาตรา 71(2) ประกอบด้วย เพื่อให้สามารถออกข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับสัตว์น้ำที่ถูกจับได้โดยบังเอิญ จึงจะสามารถนำไปสู่การควบคุมตามกฎหมายได้ ในปี พ.ศ 2563 กรมประมงจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาการกำหนดมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก เพื่อกำหนดให้ชนิดและขนาดที่เหมาะสมของสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ที่จะใช้กำหนดมาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการ ตามมาตรา 57 และ 71(2) พร้อมทั้งเสนอหลักเกณฑ์ในการกำหนดร้อยละของสัตว์น้ำขนาดเล็ก สำหรับเป็นแนวทางในการประกาศกำหนดการจับ หรือการนำสัตว์น้ำขนาดเล็กขึ้นเรือประมง ซึ่งได้ผลการศึกษาที่นำมากำหนดได้ คือ 1. กำหนดชนิดสัตว์น้ำเพื่อนำร่องกำหนดมาตรการ ได้แก่ ปลาทู - ลัง และปูม้า 2. กำหนดความยาวขนาดเล็กที่ห้ามจับปลาทู - ลัง เท่ากับ 15 เซนติเมตร ปูม้า 8.5 เซนติเมตร 3. กำหนดร้อยละสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ห้ามจับ ทั้งนี้ กรมประมงได้เคยจัดประชุมนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็น การกำหนดมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพาณิชย์และการประมงนอกน่านน้ำไทย คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพื้นบ้าน ซึ่งที่ประชุมประกอบด้วยผู้แทนจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมการประมงระดับท้องถิ่นต่าง ๆ อาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ของกรมประมง ไปแล้วจำนวน 4 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2564 - 2565 แต่ยังไม่ได้ข้อยุติที่เหมาะสมที่จะนำไปปฏิบัติได้จริง อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า การปฏิบัติการควบคุมการทำประมง โดยการใช้กฎหมายนั้น จะต้องสามารถทำได้ทั้งผู้ที่กฎหมายบังคับ และเจ้าหน้าที่จะต้องทำหน้าที่ควบคุมให้เป็นไปตามแนวทางนั้นด้วย ซึ่งกรมประมงจะเร่งดำเนินการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้แนวทางในการกำหนดมาตรการที่เป็นที่ยอมรับ ของผู้เกี่ยวข้องต่อไป โดยหลังจากนี้ขอความร่วมมือให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีผู้เยี่ยมชมแล้ว : 2